Moro, Aldo (1916-1978)

นายอัลโด โมโร (๒๔๕๙-๒๕๒๑)

     อัลโด โมโร เป็นรัฐบุรุษชาวอิตาลีและผู้นำพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย (Christian Democratic Party) เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลี ๕ สมัย คือ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๓-๑๙๖๔, ค.ศ. ๑๙๖๔-๑๙๖๖, ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๖๘, ค.ศ. ๑๙๗๔-๑๙๗๖ และ ค.ศ. ๑๙๗๖ โมโรมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ โดยเปิดโอกาสให้พรรคสังคมนิยมเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อขัดขวางการผนึกกำลังกันเป็นแนวร่วมระหว่างพรรคสังคมนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมรวมทั้งเศรษฐกิจที่ เสื่อมโทรมในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ทำให้รัฐบาลของโมโรขาดเสถียรภาพจนเขาต้องลาออกหลายครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ เขาถูกกลุ่มก่อการร้ายที่เรียกว่าเรดบริเกด (Red Brigades) ลักพาตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีปล่อยตัวสมาชิกของกลุ่มรวม ๑๓ คนที่กำลังถูกพิจารณาคดี ณ เมืองตูริน แต่รัฐบาลไม่ยอมแลกเปลี่ยนตัวโมโรกับเหล่านักโทษก่อการร้าย โมโรจึงถูกสังหาร

     โมโรเกิดที่เมืองมัลเย (Maglie) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นปูลยา (Puglia) ของอิตาลีเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาสำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ด้วยคะแนนเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยบารี (Bari) ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ และทำงานสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยบารีจนได้เป็นศาสตราจารย์สาขากฎหมายอาญา โมโรเขียนหนังสือและงานวิชาการด้านกฎหมายหลายเล่มจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป นอกจากนี้ เขายังเป็นนายกสภาสหพันธ์แห่งมหาวิทยาลัยคาทอลิกอิตาลี (Federation of Italian University Catholics) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๒ และเป็นประธานกลุ่มเคลื่อนไหวบัณฑิตคาทอลิก (Movement of Catholic Graduates) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๖ ด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เขาร่วมก่อตั้งสาขาของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยขึ้นที่ปูลยา และเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๕)* ผู้นำอิตาลี เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ยุติลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ อัลชีเด เด กัสเปรี (Alcide de Gasperi ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๕๔)* ผู้นำคนสำคัญของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นปกครองประเทศ กัสเปรีจึงแต่งตั้งโมโรซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนสภาร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ ต่อมาเขาก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๕๗ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๕๙ ในระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เขามีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบทัณฑสถานด้วยการปรับปรุงระเบียบวินัยและห้ามวิธีการลงโทษที่รุนแรงตลอดจนปรับปรุงสวัสดิการแก่นักโทษเรื่องอาหารสุขอนามัย และความสะอาด
     ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ โมโรได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยท่ามกลางวิกฤตการณ์ความแตกแยกภายในพรรคซึ่งแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย โมโรเป็นผู้นำกลุ่มโดโรเทียน (Dorothean) ซึ่งเป็นกลุ่มสายกลางและทำให้กลุ่มอื่น ๆ คาดหวังว่าเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในได้ เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๓ โมโรสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งทำให้เขาขัดแย้งกับแฟร์นันโด ตัมโบรนี (Fernando Tambroni) นายกรัฐมนตรีจากกลุ่มอนุรักษนิยมของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยและมีผลให้ตัมโบรนีต้องลาออกในเดือนกรกฎาคม ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ โมโรมีโอกาสเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นปกครองประเทศเขายอมให้พรรคสังคมนิยมเข้าร่วมซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๖ ปีที่มีการเปิดทางให้ฝ่ายซ้ายได้ร่วมบริหารปกครองประเทศ แต่รัฐบาลผสมของโมโรก็ประสบอุปสรรคจนเขาต้องลาออกเพราะที่ประชุมสภาไม่ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๔
     อย่างไรก็ตาม อีก ๑ เดือนต่อมา โมโรก็กลับมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม โดยเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคการเมืองสายกลางกับฝ่ายซ้ายดังเดิม แต่ปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกสภารวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจทำให้โมโรต้องเปิดทางให้อามินโตเร ฟันฟานี (Amintore Fanfani)* ผู้นำปีกขวาของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเข้าบริหารประเทศแทนจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๔ แต่ฟันฟานีก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และต้องลาออกโมโรจึงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๔-๑๙๖๖ นโยบายสำคัญของเขาคือการผลักดันให้อิตาลีได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization NATO)* และองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* แต่ปัญหาเงินเฟ้อและการชะงักงันทางเศรษฐกิจที่ทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถพัฒนาได้รวมทั้งปัญหาการว่างงานและความยากจนของประชากร ทำให้โครงการปฏิรูปสังคมหลายโครงการของโมโรไม่บรรลุเป้าหมายฝ่ายสังคมนิยมก็ไม่พอใจที่โมโรไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามที่ประกาศเป็นนโยบายไว้ได้รัฐบาลของโมโรจึงต้องลาออก
     ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ เขาพ่ายแพ้ แต่เมื่อไม่มีผู้ใดเหมาะสมที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ โมโรจึงกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๖ และบริหารประเทศถึง ค.ศ. ๑๙๖๘ อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จเพราะพรรคสังคมนิยมปฏิเสธที่ จะเข้าร่วม แต่โมโรก็ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๐-๑๙๗๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๒-๑๙๗๖ จูลีโอ อันเดรออตตี (Giulio Andreotti) ผู้นำปีกขวาสายกลางของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลผสมปกครองประเทศโดยการสนับสนุนของพรรคการเมืองสายกลาง ในช่วงเวลาดังกล่าว โมโรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๔-๑๙๗๖ แต่เมื่อรัฐบาลของอันเดรออตตีลาออกใน ค.ศ. ๑๙๗๖ เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายใน โมโรก็ได้รับโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการช่วงสั้น ๆ ระหว่างวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ถึง ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๖ อย่างไรก็ตาม อันเดรออตตีสามารถกลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๖-๑๙๗๙ โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์
     ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๖ โมโรได้รับเลือกเป็นผู้นำของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยและเป็นที่คาดหวังกันทั่วไปว่าบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองของเขาจะมีส่วนทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศในอนาคต โมโรมีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ โดยยอมให้ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมรัฐบาลและดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐสภาโดยมีเงื่อนไขว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องสนับสนุนพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยในรัฐสภาซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอิตาลีที่พรรคคอมมิวนิสต์มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกันเขาก็โน้มน้าวสมาชิกพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยให้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย
     โมโรถูกกลุ่มก่อการร้ายเรดบริเกดลักพาตัวขณะเดินทางไปประชุมสภาสมัยวิสามัญวาระพิเศษ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๘ ผู้คุ้มกันเขารวม ๕ คนถูกสังหาร กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวซึ่งเชื่อมั่นในอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนินต้องการแยกอิตาลีออกจากยุโรปตะวันตกได้ยื่นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนตัวโมโรกับนักโทษ คอมมิวนิสต์รวม ๑๓ คนที่ถูกจำขังที่เมืองตูรินและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินคดี รัฐบาลผสม ๕ พรรคที่มีพรรคคอมมิวนิสต์รวมอยู่ด้วยไม่ยอมรับเงื่อนไขและยังประกาศต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบด้วย ทั้งประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) แห่งสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนรัฐบาลอิตาลีอย่างเต็มที่ การเจรจาและการต่อรองที่ยืดเยื้อระหว่างรัฐบาลอิตาลีกับกลุ่มก่อการร้ายล้มเหลวและในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๘ มีผู้พบศพของโมโรในท้ายรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนกึ่งกลางเส้นทางระหว่างที่ทำการของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยกับพรรคคอมมิวนิสต์ การลักพาตัวของโมโรและการสังหารเขาโดยกลุ่มก่อการร้ายสร้างความหวาดผวาไม่เพียงเฉพาะประชาชนอิตาลีเท่านั้นยังรวมถึงประชาชนทั่วโลกด้วย และมีส่วนทำให้ปัญหาการก่อการร้ายกลายเป็นประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องหาทางแก้ไขและกวาดล้าง
     รัฐบาลอิตาลีจัดพิธีศพแก่อัลโด โมโรซึ่งถึงแก่อสัญกรรมขณะอายุ ๖๒ ปีอย่างสมเกียรติในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๘.



คำตั้ง
Moro, Aldo
คำเทียบ
นายอัลโด โมโร
คำสำคัญ
- กลุ่มโดโรเทียน
- เรดบริเกด
- โมโร, อัลโด
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- มัลเย, เมือง
- ตัมโบรนี, แฟร์นันโด
- ปูลยา, แคว้น
- ฟันฟานี, อามินโตเร
- องค์การสหประชาชาติ
- อันเดรออตตี, จูลีโอ
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- กัสเปรี, อัลชีเด เด
- คาร์เตอร์, จิมมี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1916-1978
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๕๙-๒๕๒๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อัธยา โกมลกาญจน
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf